New Porsche 911 GT3 Cup-อีกระดับแห่งความเร้าใจ
Porsche เผยโฉมเจเนอเรชันล่าสุดของรถแข่งที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในโลก 911 GT3 Cup พร้อมแล้วสำหรับการออกสตาร์ทประลองความเร็วในฤดูกาล 2021 รถแข่งรุ่นนี้คือ ส่วนหนึ่งของแคมเปญพิเศษในรายการ Porsche Mobil 1 Supercup เช่นเดียวกับการแข่งขันระดับนานาชาติอย่าง Porsche Carrera Cups ในประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส, ทวีปเอเชีย, ประเทศกลุ่มเบเนลักซ์ และเป็นครั้งแรกในทวีปอเมริกาเหนือ
ด้วยรูปทรงตัวถังที่ดุดัน เร้าใจสไตล์รถแข่งแบบเต็มพิกัด พัฒนาต่อยอดจากพื้นฐานของรุ่น 992 ซึ่งนับเป็นรุ่นแรกที่ Porsche ดัดแปลง ให้เป็นรถแข่งด้วยตัวถังกว้างแบบ Wide Turbo-spec Body พกพละกำลังสูงสุดประมาณ 510 แรงม้า (375 กิโลวัตต์) หรือแรงขึ้นอีกกว่า 25 แรงม้า เมื่อเปรียบเทียบกับตัวแข่งรุ่นก่อนหน้า ยิ่งไปกว่านั้นรถแข่ง GT3 Cup รุ่นใหม่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแบบสังเคราะห์ ซึ่งให้ผลในการลดมลภาวะจากคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามเงื่อนไข ข้อจำกัดของการแข่งขันระยะเวลาต่อรอบที่รถแข่ง 911 คันนี้ทำได้นั้นมีแนวโน้มที่จะเร็วกว่าเดิมประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเส้นทางในแต่ละสนาม ตัวรถจะได้รับการส่งมอบถึงมือทีมแข่งต่างๆ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 เป็นต้นไป
ในอดีต Porsche เคยนำเสนอรถแข่งสายพันธุ์ 911 Cup ครั้งแรกเมื่อปี 1990 เป็นการนำเอาพื้นฐานโครงสร้างของ Porsche รหัสตัวถัง 964 มาพัฒนาต่อ และนำลงสนามอย่างเป็นทางการฤดูกาลแรกในรายการ Porsche Carrera Cup ประเทศเยอรมนี ด้วยพละกำลัง 260 แรงม้าในขณะนั้น จนกระทั่งปี 1993 รถแข่งดังกล่าวได้รับการบรรจุให้ลงสนามในรายการใหม่อย่าง Porsche Supercup ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการแข่งขัน Formula 1 นับจากนั้นเป็นต้นมาทายาทผู้สืบทอดเกียรติประวัติแห่งความสำเร็จสูงสุดในฐานะรถแข่ง ได้เปิดตัวต่อมาอีก 5 เจเนอเรชั่น บันทึกสถิติรถแข่งที่มียอดการผลิตสูงสุดตลอดกาลจำนวนทั้งสิ้น 4,251 คัน
“Porsche 911 สร้างประวัติศาสตร์จากการเป็นรถยนต์รุ่นพื้นฐานสำหรับใช้ในการแข่งขัน Carrera Cups และ Porsche Mobil 1 Supercup ไม่มีรถแข่งคันไหนที่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้ดีเยี่ยมเทียบเท่ากับ 911นับตั้งแต่ปี 1990” Michael Dreiser ผู้อำนวยการฝ่ายขาย Porsche Motorsport กล่าว “รถแข่ง Porsche 911 GT3 Cup รุ่นล่าสุด คือการเริ่มต้นตำนานบทใหม่ เป้าหมายของเราคือการบรรลุยอดการผลิตมากกว่า 5,000 คัน ในปี 2021 เช่นเดียวกันกับรุ่นบรรพบุรุษของ 911 GT3 Cup รถยนต์คันนี้ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการช่วยยกระดับฝีมือแก่นักแข่งดาวรุ่งมากความสามารถ ให้ก้าวขึ้นสู่เส้นทางความเป็นมืออาชีพในวงการ มอเตอร์สปอร์ต ได้อย่างสง่างามรวมทั้งเป็นการรักษาพันธสัญญาที่ Porsche ยึดมั่นในแนวทางการทำงานเพื่อตอบสนอง แฟนมอเตอร์สปอร์ตจากทั่วทุกมุมโลก”
การสร้างรถแข่งรุ่นล่าสุดเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในปี 2018 แผนการพัฒนาที่แน่นอนถูกกำหนดขึ้นในช่วงต้นปี 2019 โดย Jan Feldmann ผู้จัดการโครงการ ทำหน้าที่หัวเรือใหญ่ในการนำพาทีมให้บรรลุเป้าหมายหลัก ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุง ด้านสมรรถนะ งานออกแบบที่เน้นความกร้าวแกร่งดุดัน การควบคุมที่ง่ายยิ่งขึ้นรวมทั้งความทนทานสูงสุดที่มาพร้อมกับ ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่ลดลง ผลลัพธ์ที่ออกมาปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดจากความยอดเยี่ยม เหนือระดับของรถแข่งคันใหม่ ทำหน้าที่สานต่อความสำเร็จเช่นเดียวกับกับรถแข่งรุ่นพี่ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นจากสายการผลิตจากโรงงานที่เมืองซูฟเฟ่นเฮาเซ่น สตุ๊ตการ์ท เคียงข้างกับ Porsche 911 คันอื่นๆ
“เราต้องการวางตำแหน่งของ New 911 GT3 Cup ให้เป็นรถแข่งที่ใกล้เคียงคำว่ามืออาชีพ พร้อมกับการเพิ่มความคุ้มค่าต่อเงินลงทุนสำหรับทีมแข่งที่นำไปลงสนาม” Feldmann อธิบายเพิ่มเติม “จนถึงจุดนี้เราถือว่าประสบความสำเร็จมาได้ในระดับหนึ่งต้องยกประโยชน์ให้รูปทรงภายนอกที่โดดเด่นน่าประทับใจระบบช่วงล่างที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ และระบบไฟฟ้าอันชาญฉลาดการควบคุม 911 GT3 Cup ที่สามารถรู้สึกได้ถึงความแม่นยำ และประสบการณ์ในการขับขี่ที่สนุกมากยิ่งขึ้น จากสมรรถนะอันยอดเยี่ยม และห้องโดยสารที่ผ่านการปรับแต่งใหม่ 911 GT3 Cup คือรถแข่งที่ดีที่สุดเท่าที่ Porsche เคยสร้างขึ้นมา”
1 ในอุปกรณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดของ New 911 GT3 Cup คือระบบอากาศพลศาสตร์ที่เหมาะสมและรูปทรงตัวถังภายนอกที่ให้ภาพลักษณ์กร้าวแกร่งดุดัน ทั้งหมดนี้สามารถสร้างความประทับใจได้เพียง แรกสายตาสัมผัส ต้องยกความดีให้แก่ตัวถังกว้าง Turbo-spec Body และน้ำหนักเบา ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก ในรถแข่งมิติความกว้างรวม 1,902 มิลลิเมตร มากกว่าความกว้างช่วงตัวถังด้านหลังของรุ่นก่อนหน้าถึง 28 มิลลิเมตร และแตกต่างด้วยการเพิ่มช่องรับอากาศ Cooling Air Inlets บริเวณด้านหน้าของซุ้มล้อ
นอกจากนี้ช่วงหน้าของรถสปอร์ต 911 ในรหัสตัวถังเจเนอเรชั่น 992 ถูกปรับให้กว้างขึ้นอย่างชัดเจนจากโป่งล้อที่ขยายใหญ่ขึ้น รถแข่ง Porsche 911 GT3 Cup มีความกว้างของช่วงล้อหน้าถึง 1,920 มิลลิเมตร เปิดโอกาสให้สามารถติดตั้งล้อคู่หน้าขนาด 12 นิ้ว และล้อคู่หลังขนาด 13 นิ้ว ได้อย่างลงตัว โดยสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับรถแข่งในรุ่น GT ส่งผลดีต่อการขับขี่ และประสิทธิภาพของตัวรถ
ในขณะเดียวกันรถแข่งเจเนอเรชั่นที่ 7 คันนี้ ได้รับการออกแบบให้มีระบบอากาศพลศาสตร์ที่ให้แรงกดมากยิ่งขึ้น ต้องยกประโยชน์ให้กับการผสมผสานการทำงานระหว่างสปอยเลอร์หลัง ร่วมกับปีกหลัง และชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนผ่านการปรับแต่งเป็นพิเศษเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับสปอยเลอร์หน้า รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้ตามสถานการณ์ ปีกหลังทรงสูงที่สามารถปรับตั้งการทำงาน ได้ถึง 11 ระดับจากจุดยึดแบบ ‘Swan Neck’ มั่นใจได้ว่าการไหลของกระแสอากาศใต้ปีกจะไม่ถูกรบกวนอย่างแน่นอน
ทั้งหมดนี้คือประสิทธิภาพด้านอากาศพลศาตร์ที่ได้รับการปรับปรุง เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพในการควบคุมโดยเฉพาะการ เข้าโค้งด้วยความเร็วสูงโครงสร้างตัวถังของรถแข่งเจเนอรชั่น 991.2 รุ่นเก่า ประกอบด้วยเหล็กกล้า 70 เปอร์เซ็นต์ และอะลูมิเนียม 30 เปอร์เซ็นต์ อัตราส่วนดังกล่าวถูกสลับที่กันในรถแข่งคันใหม่ แท้จริงแล้วตัวรถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 35 กิโลกรัม โดยมีน้ำหนักไม่รวมของเหลวที่ 1,260 กิโลกรัม
ส่วนที่เพิ่มขึ้นมีที่มาจากจุดยึดสตรัทเพื่อเสริมความแข็งแกร่งภายในพื้นที่นิรภัยหลังคาแบบถอดได้ในกรณีเกิดอุบัติเหตุตามมาตรฐานล่าสุดของ FIA หน้าต่างทุกบานที่ได้รับการติดตั้งในรถแข่ง GT3 Cup ผลิตจากวัสดุ polycarbonate น้ำหนักเบา มีคุณสมบัติทนทาน ต่อรอยขีดข่วน และแรงกระแทก ด้วยการเคลือบแข็ง ประตูรถ ฝากระโปรงท้าย และปีกหลัง ผลิตจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ (CFRP) ในส่วนของฝากระโปรงหน้า รวมทั้งช่องระบายอากาศ และช่องรับอากาศเข้าห้องโดยสาร ยังคงใช้วัสดุพื้นฐาน ที่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพในการออกแบบตัวรถเดิม เช่นเดียวกับใน Porsche 911 Carrera ชิ้นส่วนดังกล่าวผลิตจากอะลูมิเนียม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า หากต้องซ่อมแซมในกรณีที่เกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุ
นักออกแบบพิจารณาถึงหลักสรีรศาสตร์ในการวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ โดยละเอียด เพื่อรองรับผู้ขับขี่เป็นพิเศษ นอกจากการปรับเลื่อนเข้าออกในแนวราบ เบาะ Racing Seat ใหม่ยังสามารถปรับความสูงได้ถึง 2 ระดับ เมื่อผสานกับคอพวงมาลัยที่ปรับระดับได้เช่นเดียวกัน ทำให้มั่นใจได้ว่าตำแหน่งที่นั่งจะเหมาะสมกับผู้ขับขี่ทุกคน แผ่นรองรับร่างกายที่มีหลายขนาดความหนา ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ขับขี่ได้อย่างไร้ข้อจำกัด ออกแบบหลังคารถใหม่
พวงมาลัย Carbon-fibre Multifunction สำหรับการแข่งขันยกมาจากตัวแข่งรุ่นใหญ่ 911 GT3 R ด้วยข้อมูลที่ได้จากนักแข่งจึงได้ทำการจัดเรียงตำแหน่งชุดสวิตซ์ควบคุมเรืองแสงใหม่ปุ่ม Rubber Switch Panel (RSP) ขนาดใหญ่จำนวน 10 ปุ่มในแนวด้านขวาที่ชวนให้นึกถึงแผงควบคุมในรถแข่ง Porsche 919 Hybrid สะดวกต่อการใช้งาน แม้ในระหว่างการแข่งขันออกแบบเพื่อควบคุมฟังก์ชันหลัก อาทิ ระบบแสงสว่าง ระบบระบายอากาศ หรือการปรับตั้งค่าตัวรถเมื่อเปลี่ยนจากยางแห้งเป็นยางเปียก
1 ในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดอันชาญฉลาดคือการปรับตั้ง Brake Balance ในรถแข่งรุ่นใหม่ผู้ขับขี่สามารถตั้งค่าได้อย่างง่ายดายผ่านสวิตซ์โรตารีด้านขวาสุดของปุ่ม RSP ทั้งนี้ทิศทางการเลื่อนสวิตซ์จะขึ้นอยู่กับความต้องการปรับเพิ่มหรือลดแรง ดันเบรกของล้อคู่หน้า
นักออกแบบยังได้เปลี่ยนแปลงอุปกรณ์บนคอนโซลกลางใหม่แบบยกชุด หน้าจอสีขนาด 10.3 นิ้ว แสดงข้อมูลหลักที่ผู้ขับขี่ จำเป็นต้องได้รับขณะอยู่ในสนาม รอบเครื่องยนต์อุณหภูมิน้ำและน้ำมันหล่อลื่นสัญญาณเตือนฉุกเฉินหรือค่าความผิด ปกติต่างๆ ถูกตั้งค่าให้ปรากฏขึ้นทันทีเมื่อจำเป็น อาทิ ข้อความเตือน “Wet” เมื่อขับขี่ท่ามกลางสายฝน การแสดงข้อมูลทุกครั้งได้รับการออกแบบให้ถูกต้องตรงกันทั้งจากหน้าจอบนรถ และหน้าจอคอมพิวเตอร์ควบคุมการแข่งขัน เพื่อให้มั่นใจว่านักแข่ง และวิศวกรจะเห็นข้อมูลที่เหมือนกันทุกประการช่วยให้วิเคราะห์ผลการแข่งแต่ละสนามได้อย่างตรงประเด็น
ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับการพัฒนาให้เป็นมิตรกับผู้ใช้งานมากขึ้นโดยสามารถตรวจสอบข้อผิดพลาดต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งแก้ไขปัญหาได้ถูกต้องทันท่วงทีมากกว่า 700 แนวทางการวิเคราะห์ที่สามารถเลือกใช้งานได้ซอฟต์แวร์พิเศษเฉพาะทางช่วยในการสรุปข้อมูลต่างๆ อย่างชัดเจน และครอบคลุมทุกระบบ ฟังก์ชันการทำงานเสริม อาทิ ระบบ ABS หรือระบบ Traction Control บรรจุพร้อมใช้งานสามารถสั่งการได้ผ่าน Digital Code ในการแข่งขัน Porsche Mobil 1 Supercup และรายการ Carrera Cups ระดับสากลแทบทั้งหมดระบบช่วยเหลือดังกล่าวจะถูกปิดการทำงานเอาไว้ สำหรับการลงสนามเพื่อค้นหาผู้ชนะในซีรีส์นี้ ที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวของนักแข่งเพื่อชิงชัยเท่านั้น
รายละเอียดอื่นๆ ที่เน้นย้ำให้เห็นถึงความประณีตในการสร้างสรรค์รถแข่ง Porsche 911 GT3 Cup สามารถสังเกตได้จากการจัดเรียงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายรอบตัวรถ กล่องควบคุม Motorsport control units และระบบบันทึกข้อมูลการขับขี่ Data Loggers ย้ายตำแหน่งจากที่วางเท้าฝั่งผู้โดยสารไปยังมุมขวาของห้องเก็บสัมภาระ ท้ายรถ ผลที่ได้คือไม่มีสิ่งใดมาขัดขวางการติดตั้งเบาะนั่งฝั่งผู้โดยสาร เมื่อมีความจำเป็นต้องขับขี่ชั่วคราวในลักษณะ ‘Racingtaxidrives’
ระบบช่วงล่างของรถแข่ง 911 Cup คือ ศูนย์รวมเทคโนโลยีจากสนามความเร็วที่ยอดเยี่ยมที่สุด ทั้งนี้ช่วงล่างด้านหลังแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากรถสปอร์ตในสายการผลิตปกติ ส่วนช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบปีกนกคู่ Double Wishbones และลูกปืนแบบ Uniball Bearings เช่นเดียวกับ 911 RSR รถแข่งตัวแรงที่สุดของ Porsche ในปัจจุบัน ด้วยสิ่งนี้โช๊คอัพไม่มีความจำเป็นต้องรับแรงในแนวราบ มีเพียงแรงในแนวแกนเท่านั้นที่กระทำ ผลลัพธ์คือความเฉียบคมขณะบังคับเลี้ยว และให้ความรู้สึกที่มั่นคงยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาถึงการทำงานของช่วงล่างด้านหน้า นอกจากนี้ตัวโช๊คอัพเองยังได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีวาล์วระดับสุดยอดซึ่งถ่ายทอดมาจาก 919 Hybrid และ 911 RSR ผสานกับพวงมาลัยเพาเวอร์ Electro-mechanical ครั้งแรกในรถแข่ง 911 GT3 Cup หมายความว่าจะไม่จำเป็นต้องใช้ปั้มเพาเวอร์ และท่อทางน้ำมันไฮดรอลิกทั้งหลายอีกต่อไป
ในส่วนของขุมพลังรถแข่ง Porsche 911 GT3 Cup ยังคงยึดมั่นกับเครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบนอน ไร้ระบบอัดอากาศในเวอร์ชันรถแข่งพันธุ์แท้ ด้วยขนาดความจุ 4 ลิตร ระบายความร้อนด้วยน้ำ พละกำลังสูงสุด 510 แรงม้า (375 กิโลวัตต์) ให้รอบการทำงานที่สูงเป็นพิเศษ พร้อมระบบน้ำมันหล่อลื่นแบบ Dry-sump รีดสมรรถนะเครื่องยนต์ถึงกว่า 8,400 รอบต่อนาที เพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อนหน้าที่ทำได้ 7,500 รอบต่อนาที ตัดการทำงาน Redlines ที่ 8,750 รอบต่อนาที ขณะที่ให้แรงบิดมหาศาล 470 นิวตันเมตรที่ 6,150 รอบต่อนาที ระบบลิ้นปีกผีเสื้อแบบเดี่ยว พร้อมท่อร่วมไอดีติดตั้ง resonance flaps คู่ มั่นใจได้ในอัตราการตอบสนองที่ต่อเนื่องไม่มีสะดุด เมื่อทำงานร่วมกับระบบระบายไอเสีย พร้อมแคททาไลติด คอนเวอร์เตอร์สำหรับการแข่งขัน ก่อกำเนิดเสียงคำรามจากเครื่องยนต์อันดุดันน่าเกรงขาม สามารถเลือกติดตั้งระบบระบายไอเสียได้ถึง 3 รูปแบบ โดยขึ้นอยู่กับรายการแข่งขันข้อกำหนดและสนามแต่ละแห่ง ติดตั้งระบบควบคุมเครื่องยนต์ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ Bosch MS 6.6
เช่นเดียวกันกับรถแข่งรุ่นก่อนหน้าเครื่องยนต์ 6 สูบบล็อกนี้ ต้องการการบำรุงรักษา เพียงการตรวจสอบหลัง จากการลงสนามเป็นระยะเวลา 100 ชั่วโมง ส่งกำลังผ่านระบบเกียร์ Sequential Dog-type 6 จังหวะ ที่มีน้ำหนัก 72 กิโลกรัม พร้อมล้อช่วยแรงแบบ Single-mass Flywheel และคลัตช์ Sintered Metal สามแผ่นสำหรับการแข่งขัน เปลี่ยนเกียร์ด้วย Paddle Shift บนพวงมาลัย ระบบเกียร์ดังกล่าวต้องการเพียง “การตรวจสอบเบื้องต้นหรือ Minor Inspection” หลังจากการลงแข่งขันเป็นระยะเวลา 60 ชั่วโมงเท่านั้น หรือโดยประมาณ 2 ปีในการแข่งขันรายการ Porsche Mobil 1 Supercup จึงจำเป็นต้องโอเวอร์ฮอร์นหลังจาก 120 ชั่วโมงของการลงสนาม กลไกการเปลี่ยนจังหวะเกียร์ Shift Barrel Actuator ควบคุมการทำงานโดย Electric Servo-motor เปลี่ยนจากการใช้ชุดนิวแมติกในรุ่นเดิม ซึ่งมีข้อได้เปรียบคือการเปลี่ยนอัตราทดที่รวดเร็วขึ้น เพิ่มเติมฟังก์ชันการวิเคราะห์ปัญหาในขณะใช้งาน และเสี่ยงต่อความเสียหายน้อยลง ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนเกียร์ผิดตำแหน่ง
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมากสำหรับการปรับแต่งพิเศษเพื่อยกระดับสมรรถนะของรถแข่ง Porsche 911 GT3 Cup
- รถแข่ง 911 Cup ทุกคันจาก Porsche Motorsport จะได้รับการส่งมอบพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ ตกแต่งสมบูรณ์แบบจากโรงงาน อาทิ เครื่องมือพิเศษทั้งหมด และสเปเซอร์ในกรณีปรับตั้งช่วงล่าง ให้เข้ากับการขับขี่แต่ละสนาม ดังนั้นรถแข่ง 911 GT3 Cup จึงพร้อมลงสนามแข่งขันได้ทันที โดยที่ทีมแข่งอิสระไม่จำเป็นต้องสั่งซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม
- ในรถแข่งเจเนอเรชั่นล่าสุด หม้อน้ำระบายความร้อนยังคงได้รับการติดตั้งบริเวณหลังชิ้นส่วนตัวถังหน้ารถ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงในการเสียหายของหม้อน้ำจากการขับขี่บนความเร็วสูงและเปิดโอกาสให้สามารถ ติดตั้งชุดสตรัทได้โดยไม่ก่อให้เกิดการกระทบกระแทกกับชิ้นส่วนอื่นใด
- ชุดคาลิเปอร์เบรกแบบพิเศษ สามารถเปลี่ยนผ้าเบรกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
- เพลาขับหลังออกแบบเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ ให้ความทนทานสูง
- ห่วงผ้า Textile Loops ได้รับการติดตั้งสำหรับการลากจูงตัวรถ แทนจุดยึดแบบตะขอเหล็กในรุ่นก่อนหน้า
- ระบบดับเพลิงฉุกเฉิน Central Nozzle ใหม่ ปรับปรุงการกระจายตัวของสารดับเพลิงให้ครอบคลุมพื้นที่ภายในห้องโดยสาร
- เปลี่ยนตำแหน่งของ Release Unit ช่วยให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยสามารถตรวจสอบความถูกต้องในการทำงานของระบบดับเพลิงฉุกเฉินจากภายนอกรถได้ง่ายยิ่งขึ้น
- ปรับปรุงมือเปิดประตูฉุกเฉิน Safety Quick Releases จากด้านใน ให้เป็นไปตามหลักสรีรศาสตร์ เมื่อต้องการออกจากตัวรถในกรณีเกิดอุบัติเหตุ
- ควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าผ่านระบบ Onboard โดยปราศจากฟิวส์แบบเดิม ลดปริมาณวัสดุที่ใช้ในการเดินสายไฟ และลดน้ำหนักรวมให้ต่ำลง การออกแบบใหม่ ช่วยให้การซ่อมบำรุงทำได้ง่ายยิ่งขึ้นจากตำแหน่งศูนย์รวม
- ในกรณีที่เครื่องยนต์ขัดข้องขณะออกสตาร์ท ไฟฉุกเฉินจะติดขึ้นโดยอัตโนมัติเพื่อเตือนให้นักแข่งคนอื่นระมัดระวังการเฉี่ยวชนที่อาจเกิดขึ้น
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: Porsche Thailand
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.