เบื้องหลังการพัฒนาทางเทคนิค New Porsche 911 GT3
New Porsche 911 GT3 กลายเป็นรถสปอร์ตสายพันธ์โหดที่รวบรวมการพัฒนาด้านเทคนิคล่าสุดของทีมวิศวกร Porsche ด้วยความมุ่งมั่นในการตั้งเป้าหมายหนึ่งเดียวเพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านสมรรถนะของโมเดลนี้ โดยไม่ลดทอนความสะดวกสบายในการใช้งานประจำวันลงแม้แต่น้อย การประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างบรรดาช่างเทคนิคจากสายการผลิตปกติ และเหล่าบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากแผนกมอเตอร์สปอร์ต เพื่อภารกิจสุดยิ่งใหญ่ และเต็มไปด้วยความสำคัญนี้โดยเฉพาะ
“เมื่อเราได้ทีมวิศวกรชุดเดียวกับทีมพัฒนารถแข่งของเราเข้ามาร่วมออกแบบรถ GT รุ่นใหม่เพื่อใช้งานบนถนนปกติ เท่าที่ผมนึกออกคงไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งหมดแบบโดยตรงที่ดีไปกว่านี้ได้อีก” Andreas Preuninger ผู้อำนวยการของ GT Model Line ให้ความเห็น
การปรับแต่งด้วยอุโมงค์ลมนานกว่า 160 ชั่วโมง
กระบวนการทางเทคนิคในส่วนของอากาศพลศาสตร์คือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด นับเป็นครั้งแรกที่ปีกหลังแบบลอยตัวหรือ Suspended Rear Wing ได้รับการติดตั้งลงในรถสปอร์ต Porsche จากสายการผลิตปกติ
จุดยึดแบบ Swan-neck มีลักษณะเดียวกันกับที่ใช้ในรถแข่ง GT ในรุ่น Porsche 911 RSR และรถแข่ง Porsche 911 GT3 Cup ขาแขวนแบร็คเก็ตอะลูมิเนียมทั้ง 2 ข้าง ทำหน้าที่รองรับชิ้นส่วนปีกดังกล่าวจากด้านบน กระแสอากาศสามารถเคลื่อนที่ผ่านทางด้านล่างโดยไม่ถูกกีดขวางซึ่งเป็นสิ่งที่มีผลในด้านอากาศพลศาสตร์อย่างมาก งานออกแบบใหม่ช่วยลดการสูญเสียที่ไม่จำเป็นที่นอกจากจะเป็นการเพิ่มแรงกดท้ายรถให้มากขึ้นยังมีผลต่อเสถียรภาพของระบบรองรับหลังโดยเป็นการทำงานร่วมกับการปรับแต่งอื่นๆ อย่างละเอียด
“เราพัฒนาด้านอากาศพลศาสตร์ของ New Porsche 911 GT3 ผ่านแบบจำลองมากกว่า 700 รูปแบบ ใช้เวลามากกว่า 160 ชั่วโมง เพื่อปรับตั้งตัวรถอย่างประณีตภายในอุโมงค์ลม” Mathias Roll วิศวกรอากาศพลศาตร์ อธิบายถึงมุมปะทะอากาศของปีกหลังตัวใหม่ สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้ถึง 4 ระดับสอดคล้องกับการทำงานของดิฟฟิวเซอร์หน้าซึ่งปรับได้ 4 ระดับเช่นเดียวกัน
“New Porsche 911 GT3 สร้างแรงกดได้มากกว่ารุ่นก่อนหน้าถึง 50 เปอร์เซ็นต์ที่ความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อันเป็นผลจากการปรับแต่งอุปกรณ์ภายนอกตัวรถเท่านั้น ในกรณีที่ต้องการแรงกดสูงสุด สามารถปรับตั้งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่า 150 เปอร์เซ็นต์” Roll อธิบายเพิ่มเติม
เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่รถแข่งสายสนามต้องเผชิญดุลยภาพด้านอากาศพลศาสตร์ของ New Porsche 911 GT3 สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพเส้นทางในแต่ละสนามและรูปแบบการขับขี่ได้โดยอิสระ
“ไม่เพียงชิ้นส่วนตัวถังต่างๆ จะคล้ายคลึงอย่างมากกับอุปกรณ์ที่ใช้ในรถแข่งเท่านั้น ขั้นตอนและวิธีการในการพัฒนาก็ยังถอดแบบกันมาอีกด้วย” วิศวกรอากาศพลศาสตร์อธิบายเพิ่มเติม “ภายในอุโมงค์ลมสุดล้ำสมัยของเราที่ Weissach ไม่ได้จำลองเฉพาะทิศทางที่รถวิ่งตรงไปข้างหน้าเท่านั้น แต่เรายังทำการทดสอบทุกสถานการณ์ในการขับขี่ที่อาจจะเป็นไปได้ทั้งหมด เราจับรถม้วนตัว โยนไปมา และเขย่าซ้ายขวา เพื่อจำลองทุกสภาพที่ต้องพบเจอระหว่างขับขี่บนสนามแข่ง”
ขุมพลังเครื่องยนต์รอบจัด High-revving DNA จากสนามความเร็ว
ขั้นตอนการทดสอบระหว่างการพัฒนาเครื่องยนต์ความจุ 4 ลิตร ไร้ระบบอัดอากาศที่ให้รอบการทำงานสูงในรูปแบบรอบสูง High-revving เป็นภารกิจที่จำเป็นต้องใช้เวลามากยิ่งขึ้น “ในภาพรวมเครื่องยนต์ของ New Porsche 911 GT3 มีอายุการใช้งานยาวนานมากกว่า 22,000 ชั่วโมงบนแท่นทดสอบ ในขณะนั้นเราจำลองสถานการณ์การขับขี่ที่ต้องใช้ในสนามแข่งและเร่งเครื่องยนต์จนเต็มกำลังแทบจะตลอดเวลาที่ทดสอบ” Thomas Mader ผู้จัดการโครงการ GT Road Car Engines พูดถึงการตอบสนองที่ฉับไวของเครื่องยนต์ทันทีที่เหยียบคันเร่ง
ด้วยพื้นฐานจากขุมพลังของรถแข่ง 911 GT3 R และ 911 GT3 Cup โดย New Porsche 911 GT3 พกพาพละกำลังติดตัว 510 แรงม้ามากกว่า GT3 รุ่นก่อนหน้า 10 แรงม้า กำลังสูงสุดจะออกมาในรอบการทำงานของเครื่องยนต์ที่ 8,400 รอบต่อนาที และระบบจำกัดรอบอิเล็กทรอนิกส์จะยอมให้ลากรอบต่อไปจนตัดการทำงานที่ 9,000 รอบต่อนาที ในส่วนของแรงบิดสูงสุดเพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อนหน้าจาก 460 เป็น 470 นิวตันเมตร
เช่นเดียวกับรถแข่งในวงการมอเตอร์สปอร์ต การทำงานอันแม่นยำ และเที่ยงตรงของวาล์วที่รอบเครื่องยนต์สูง เกิดขึ้นจากระบบกระเดื่องกดวาล์ว Rocker Arms ที่แข็งแกร่ง เทคโนโลยีวาล์วแปรผัน VarioCam ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถควบคุมการทำงานของเพลาลูกเบี้ยวให้ตอบสนองต่อรอบการทำงาน และรับภาระเครื่องยนต์ แบริ่งเพลาข้อเหวี่ยงขยายขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางแบริ่งก้านสูบกว้างขึ้นและผนังกระบอกสูบเคลือบสารพลาสมาเพื่อลดการสูญเสียกำลังรวมทั้งลดการสึกหรอจากแรงเสียดทานที่ต่ำลง “ระบบลิ้นปีกผีเสื้อแยกอิสระซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากรถแข่งให้การตอบสนองที่รวดเร็วทันใจยิ่งขึ้น” Mader ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์กล่าวเสริม
อัตราเร่งที่รวดเร็วทั้งในแนวตั้งชัน และแนวราบที่ New Porsche 911 GT3 ทำได้บนสนามแข่ง หมายความว่าน้ำมันเครื่องรอบจัดเช่นนี้ที่ต้องจ่ายให้เครื่องยนต์รอบจัดเช่นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับรถแข่งที่มีการหล่อลื่นเครื่องยนต์รับหน้าที่ด้วยระบบ Dry-sump ซึ่งมีอ่างน้ำมันเครื่องแยกด้วยการทำงานของจังหวะดูดน้ำมันเครื่องรวมทั้งสิ้น 7 ขั้นตอนส่งผลให้น้ำมันเครื่องถูกส่งกลับไปยังอ่างอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของการหล่อลื่นก้านสูบที่จำเป็นต้องรับภาระอย่างหนักเป็นหน้าที่ของปั้มน้ำมันเครื่องส่งต่อจากเพลาข้อเหวี่ยงโดยตรง “เครื่องยนต์ที่ประจำการอยู่ในรถแข่งPorsche 911 GT3 Cup มีอุปกรณ์ที่แตกต่างจากเครื่องยนต์บล็อกนี้แค่ 2 อย่างนั่นคือระบบระบายไอเสียและกล่องสมองกลควบคุมเครื่องยนต์ นอกจากนั้นเหมือนกันแทบทุกประการ” Mader พูดถึงด้านเทคนิค
เครื่องยนต์ของ New Porsche 911 GT3 แสดงศักยภาพของมันออกมาได้อย่างเต็มที่ด้วยความเชี่ยวชาญของทีมงานวิศวกร และนักทดสอบฝีมือดี “เราทำการทดสอบด้านมลภาวะถึง 600 รูปแบบในระหว่างกระบวนการพัฒนา เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องยนต์บล็อกนี้จะผ่านมาตรฐานข้อกำหนดอันเข้มงวด” Mader กล่าวถึงมาตรฐานไอเสียที่เคร่งครัดถูกบังคับใช้ในเชิงของความทนทานอีกด้วยมันต้องทำงานได้อย่างไร้ที่ติ ด้วยความต่อเนื่องยาวนานเป็นระยะทางมากกว่า 5,000 กิโลเมตรบนสนามรูปวงรีที่เมืองนาร์โด้ ประเทศอิตาลี ขณะที่ทำความเร็วคงที่ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหยุดพักเพื่อเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น
ราคาจำหน่าย New Porsche 911 GT3 ราคาเริ่มต้น 17.9 ล้านบาท พร้อมรับคำสั่งซื้อแล้ววันนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โชว์รูมปอร์เช่ บริษัทเอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส ทุกสาขา
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: เอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.