โรงจอดรถที่นักสะสม Porsche ทั่วโลกใฝ่ฝันถึง
บ้านคุณ โมริตะ กรุงโตเกียว
คุณโมริตะ เป็นเจ้าของรถมากกว่า 30 คัน โรงจอดรถถูกสร้างขึ้นแยกตามวัตถุประสงค์และเก็บรถไว้ข้างในตามรุ่นปีที่ผลิต แม้ว่ารถทุกคันจะเป็นรถที่หายาก แต่ก็รักษาสภาพให้สามารถวิ่งได้ทุกเมื่อ ครั้งนี้ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูปเฉพาะบางโรงจอดรถเท่านั้น ขอให้ท่านได้เพลิดเพลินไปกับรถล้ำค่าเหล่านี้
เรื่อง : จุน อิชิฮารา ภาพ : มาซาทาเกะ อิชิโกะ แปล : สุภารัตน์ ศิริรัตนพันธ
คุณโมริตะ เป็นแพทย์ (ต่อไปเรียก คุณหมอ) ซึ่งบ้านตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว เป็นเจ้าของโรงจอดรถที่ตั้งอยู่ในที่ห่างจากบ้านพัก ด้วยความหลงใหลในรถ 356 ที่เคยขับที่สหรัฐอเมริกา หลังจากกลับไปญี่ปุ่น เขาจึงซื้อและเริ่มขับรถ Porsche 356 ปัจจุบันเขามีรถอยู่ประมาณ 30 คัน เรียกได้ว่า เป็นนักสะสม Porsche เลยทีเดียว รถของเขาส่วนใหญ่ผ่านการตรวจสภาพและได้รับการบำรุงรักษา เพื่อให้สามารถสตาร์ตเครื่องยนต์ได้ในครั้งเดียว จึงอยากแนะนำรถและโรงจอดรถที่ได้รับการอนุญาตให้ถ่ายลงในนิตยสาร
เหตุผลหลักที่เขาจำกัดให้ถ่ายได้เฉพาะบางส่วน อยู่ที่ตัวโรงจอดรถที่เขาเป็นเจ้าของ ในระหว่างการสัมภาษณ์ เรารับรู้ว่า เหตุผลสำคัญอยู่ที่โรงจอดรถซึ่งมีขนาดใหญ่จนเรียกได้ว่า เป็นพิพิธภัณฑ์ก็ได้
ปัจจุบันเขาเป็นคุณหมอในกรุงโตเกียว และเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลด้วย ตอนนี้เขามีรถมากกว่า 30 คัน และเป็นผู้สะสมรถซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแต่ละยุคสมัย ส่วนใหญ่จะเป็น Porsche และ VW รถทุกคันผ่านการตรวจสภาพและได้รับการบำรุงรักษา เพื่อให้สามารถสตาร์ตเครื่องยนต์ได้ในครั้งเดียว ดูเหมือนว่า ชื่อคุณโมริตะจะเป็นที่รู้จักในหมู่คนรักรถ Porsche อาจเป็นเพราะเขามีรถจำนวนมากที่ไม่ว่าคันไหนก็เป็นรถหายาก ซึ่งผลิตออกมาจำนวนน้อย ในสมัยก่อนจะมีแต่คนรู้จักเท่านั้นที่รู้ว่าเขามีรถสะสมอยู่ แต่ในปัจจุบัน เนื่องจากการพัฒนา SNS (Social Network Sites) จึงมีการกล่าวถึงเขากันมาก เช่น อยากได้รถของเขา หรืออยากเห็นโรงจอดรถของเขา เพราะข้อมูลกระจายออกไปได้กว้าง จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่เขาจะต้องจำกัดรถ และโรงจอดรถที่อนุญาตให้กองบรรณาธิการถ่ายรูป เพื่อแนะนำในนิตยสารครั้งนี้ จึงอยากให้ท่านเข้าใจว่า มีรถหายากขนาดนั้นอยู่ในโรงจอดรถ
เอาล่ะ ขอกลับมาเล่าเรื่องโรงจอดรถ คุณหมอขับรถ Porsche 356 เป็นครั้งแรก ตอนที่เขาไปอยู่ที่รัฐคอนเนกทิกัต สหรัฐอเมริกา ในปี 2528 เป็นเวลา 3 ปี ตอนนั้น ขาขับรถ Saab ในญี่ปุ่น จึงสนใจแต่รถ Saab และรถอิตาลีเท่านั้น แต่ตอนที่ไปเที่ยวบ้านเพื่อนเขาได้เห็นรถ Porsche 356 รุ่นปี 1964 ที่พ่อของเพื่อนเป็นเจ้าของ เขาจำได้แค่ว่า นี่หรือคือ Porsche อย่างไรก็ตาม 3 ปีต่อมา เมื่อเขากลับไปญี่ปุ่นและเห็น 356 คันหนึ่งในเมืองอาโอยามะ ความทรงจำในอดีตก็หวนกลับมา เขาจึงซื้อรถ Porsche 356A ปี 1957 และนี่คือจุดเริ่มต้นของการสะสม หลังจากนั้น พอได้ศึกษาเส้นทางความเป็นมาของ Porsche 356 ก็ได้เรียนรู้ว่า มีหลายโมเดลที่ต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับรุ่นปีที่ผลิต โดยมีรุ่น 356A ซึ่งเริ่มผลิตในปี 1955, รถ 356B ซึ่งเปลี่ยนตัวถังเป็นรูปทรงใหม่ และปรากฏตัวในงาน Frankfurt Motor Show ปี 1959, 356C ที่เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 1963 ซึ่งเปลี่ยนเป็นดิสก์เบรก และมีจำนวนรถเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ Porsche 356 ถูกนำเข้าญี่ปุ่นในฤดูใบไม้ผลิปี 1953 โดย “Sanwa Motor” ในเมืองทาเมอิเกะ กรุงโตเกียวในขณะนั้น ที่โรงจอดรถของคุณโมริตะ มี 1 ใน 2 ของรถ Pre-A Cabriolet รุ่นปี 1953 ที่นำเข้าอย่างเป็นทางการจอดนิ่งอยู่ แม้จะเป็นรถที่ได้รับการซ่อมแซมโดยเจ้าของคนก่อน แต่เป็นรถนำเข้าคันแรกที่มีตัวถังสีแดงสดในตอนที่นำเข้า ซึ่งเป็นเรื่องราวที่กล้าบ้าบิ่นมาก
โรงจอดรถที่มีพื้นที่กว้างขวาง สามารถตรวจสอบสภาพรถคันโปรดได้ทุกเมื่อ
ความสามารถในการบำรุงรักษาก็ดีเยี่ยมอีกด้วย
นอกจากนั้น มี 356 Convertible D รุ่นปี ’59 ซึ่งเป็นรุ่นแรกๆ, Roadster 1600 รุ่นปี ’60, Pre-A Cabriolet รุ่นปี ’55 และ 356 Speedster ที่ตัวถังเป็นอะลูมิเนียมซึ่งผลิตโดย Works Team แต่ไม่มีการวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ 356 ซึ่งผลิตจำนวนจำกัดในโลก ฯลฯ รถเหล่านี้ถูกเก็บรักษาภายใต้การรักษาความปลอดภัยที่สมบูรณ์แบบ โรงจอดรถทั้งหมดทำจากไม้และอยู่ในสภาพที่เครื่องปรับอากาศทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากรถไม่ชอบความชื้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดเก็บชิ้นส่วนและเอกสารที่มีค่าไว้ด้วย ทำให้รู้สึกราวกับว่า กำลังเยี่ยมชม Porsche Museum เมื่อพิจารณาว่าเป็นการเก็บรักษารถและเอกสารล้ำค่าโดยส่วนบุคคล จึงเป็นโรงจอดรถที่เหมาะกับ The Garage จริงๆ ด้วยขนาดที่พอเหมาะกับจำนวนรถ และการคัดคุณภาพวัสดุที่ใช้
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาสร้างโรงจอดรถสำหรับนำ Porsche Targa รุ่นปี 1972 และ Porsche RS รุ่นปี 1973 เข้าร่วมการแข่งรถ และเป็นโรงจอดรถหลังแรกที่นี่ คุณโมริตะเป็นผู้กำหนดขนาดที่จะสร้าง ประตูชัตเตอร์ ตำแหน่งและขนาดของหน้าต่าง ฯลฯ และให้ช่างท้องถิ่นเป็นผู้สร้าง เขาวางแผนที่นำลิฟต์ระบบไฮดรอลิกซึ่งผลิตโดย Bishamon มาใช้ตั้งแต่ตอนที่ออกแบบ เพื่อความสะดวกเวลาที่จะเปลี่ยนช่วงล่างของรถ และสับเปลี่ยนเครื่องยนต์ เป็นต้น สำหรับเครื่องมือ เขาได้เตรียม TOOL BOX และเครื่องมือทั้งหมดที่ระบุโดยช่างที่เขาใช้งานเป็นประจำไว้พร้อม ในโรงจอดรถเตรียมเครื่องยนต์สำรองไว้ 3 เครื่องสำหรับใช้สับเปลี่ยนและลงแข่งได้ทุกเมื่อ การเตรียมความพร้อมนี้ดำเนินการเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่าน
โรงจอดรถหลังที่ 1 ที่ลิฟต์เข้าได้
สร้างขึ้นสำหรับการซ่อมบำรุงรถ
ได้ยินมาว่า ในช่วงที่เข้าร่วมการแข่งขัน เขาจะเก็บสต๊อกชิ้นส่วนที่ค่อนข้างจำเป็น และพยายามจัดให้เป็นระเบียบโดยติดตั้งกล่องสำหรับจัดเก็บไว้บนผนังในโรงจอดรถ ถึงขนาดมีโต๊ะทำงานในโรงจอดรถ และให้ช่างเข้ามาเตรียมงานได้ตลอดเวลา คุณหมอไม่สนใจรถ Porsche รุ่นใหม่ล่าสุด เพราะเป็นรถที่สร้างโดยกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม เขามีความเชื่อว่าจะต้องขับรถที่ทำด้วยมือ เขาชอบ Porsche 356 ซึ่งเขากล้าเรียกว่ารถหัตถกรรม และ Porsche ที่มีเครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยอากาศ “รถในยุคนี้จะยังวิ่งได้ตามปกติหากได้รับการซ่อมบำรุงอย่างถูกต้อง” เขาบอกว่าสิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าใครเป็นผู้ซ่อมบำรุงและขับขี่
เขาบอกว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาสนุกกับการแข่งรถแบบคลาสสิก โดยเฉพาะการแข่งแรลลี่ที่เข้าร่วม 4-5 ครั้งต่อปี ถึงขนาดเข้าร่วม Mille Miglia ในอิตาลีด้วย และเมื่อเขามีรถใหม่เพิ่ม ก็จะนำกลับไปที่ญี่ปุ่น โดยพื้นฐานแล้ว เขาจะซื้อเฉพาะรถที่อยากได้ และจะไม่ปล่อยรถออกไป อาจเพราะมีคนได้ยินเรื่องของคุณหมอ จึงมีข้อเสนอจากทั่วทุกมุมโลกอยากให้เขายกรถให้ และมีการพูดคุยกันเกี่ยวกับรถหายากที่มีจำนวนจำกัดในโลกและรถต้นแบบในช่วงเวลาที่ทำการพัฒนา เป็นต้น
ระยะหลังนี้ เพราะมีเพื่อนรุ่นน้องในที่ทำงานกำลังขับรถ Volkswagen ที่ระบายความร้อนด้วยอากาศแบบคลาสสิก ดังนั้น จากมุมมองที่เขาต้องการเรียนรู้ด้วยการขับรถ Type 1 ที่พัฒนาโดย Ferdinand Porsche เขาจึงเป็นเจ้าของ VW Cabriolet model รุ่นปี 1950 ซึ่งเป็นรุ่นแรก และ VW รุ่นหน้าต่างแยกรุ่นแรกอีกด้วย นอกจากนี้ เขายังเป็นเจ้าของ KdF (Kraft durch Freude) Model ที่ประกอบขึ้นที่โรงงานในเยอรมนีในช่วงสงคราม และสร้างโรงจอดรถเพิ่มตามจำนวนรถด้วย เช่น สร้างโรงจอดรถสำหรับจอดรถ Volkswagen โดยเฉพาะ
โรงจอดรถไม้ที่แบงตามธีม
โรงจอดรถสำหรับ KdF ถูกสร้างเพิ่มขึ้นมา
โรงจอดรถทั้งหมดได้รับการออกแบบโดยคุณโมริตะ และก่อสร้างโดยผู้รับเหมาในท้องถิ่น คุณโมริตะทำโครงสร้างจากไม้ทั้งหมดโดยคำนึงถึงความชื้นและอุณหภูมิ ชัตเตอร์มีทั้งแบบไฟฟ้าและแบบใช้มือ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของโรงจอดรถ โรงจอดรถที่มีรถแข่งจะติดตั้งลิฟต์ มีกล่องเครื่องมือขนาดใหญ่ และห้องเก็บของตามที่อธิบายไว้ข้างต้น แต่โรงจอดรถสำหรับเก็บรถสะสมอื่นๆ อย่างน้อย จะมีเครื่องปรับอากาศ พัดลมระบายอากาศ และแหล่งจ่ายไฟฟ้าเพื่อให้ทำความสะอาดได้ง่าย จะเห็นได้ว่ายิ่งเป็นโรงจอดรถที่สร้างใหม่ก็จะมีวิวัฒนาการมากขึ้น เช่น ยกพื้นขึ้นเพื่อให้มองเห็นเวลาน้ำมันรั่ว ทำรอยต่อที่พื้นสำหรับให้พื้นขยายและหดตัวได้เพื่อป้องกันการแตกร้าว ฯลฯ
น่าประหลาดใจที่รถทุกคันผ่านการตรวจสภาพและเตรียมพร้อมให้สามารถขับขี่ได้ทุกเมื่อ บันทึกการขับขี่จะได้รับการจัดการในโน้ตบุ๊ก มีการคำนวณเพื่อให้ได้รับการตรวจสภาพรถ 2 คันต่อเดือน รถได้รับการดูแลโดยช่างประจำที่ไว้ใจ และโรงจอดรถได้รับการดูแลโดยผู้ที่ดูแลโรงจอดรถเป็นประจำ ดูเหมือนว่ามักจะมีการพูดถึงพิพิธภัณฑ์รถ แต่คุณหมอสร้างโรงจอดรถนี้ขึ้นเพื่อให้สามารถขับรถได้ทุกคัน และไม่คิดที่จะเปิดให้สาธารณชนเข้าชม เนื่องจากเขาต้องการขับรถล้ำค่านี้อย่างปกติธรรมดา แม้จะมีเพื่อนบอกว่า “ไม่ควรขับรถคันนี้” ก็ตาม ปัจจุบันเขามีโรงจอดรถทั้งหมด 6 หลัง ที่สร้างขึ้นโดยปรับเปลี่ยนรายละเอียดสเปกตามรถ ครั้งนี้เราได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพโรงจอดรถ 3 หลัง ดูเหมือนว่าในอนาคตโรงจอดรถจะเพิ่มขึ้นอีกตามจำนวนรถที่เพิ่มขึ้น
PLANNING DATA
เจ้าของ คุณโมริตะ
พื้นที่โรงจอดรถ ไม่ทราบ
รถคันโปรด Porsche 356 Cabriolet รุ่นปี 1953
Porsche 356 Cabriolet รุ่นปี 1955
Porsche 356 Speedster รุ่นปี 1959
Porsche 356 รุ่นปี 1963
Porsche 911 RS รุ่นปี 1974
Porsche 911 Targa รุ่นปี 1972
Porsche 911RS รุ่นปี 1973
KdF รุ่นปี 1946
VW TYPE-1 Cabriolet รุ่นปี 1950
VW TYPE-1 รุ่นปี 1952
VW TYPE-1 รุ่นปี 1962 และรถอื่นอีกมากมาย
OWNER’S CHECK
ส่วนที่ชอบที่สุด : สร้างโรงจอดรถ 6 หลังโดยวาดผังของโรงจอดรถเอง ระบุสีและวัสดุ ทุกหลังสร้างเสร็จตามแนวคิดที่พอใจ
ส่วนที่อยากปรับปรุง : คิดว่าถ้าเพิ่มพื้นที่จัดเก็บอีกหน่อย อาจจะเก็บสิ่งของต่างๆ ให้เป็นระเบียบได้ แต่เกรงว่าถ้ามองไม่เห็นก็จะหาได้ลำบาก
ความฝันครั้งต่อไป : อยากสร้างพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวและมองเห็นรถของตนเอง อยากเข้าร่วม Targa Florio กับ 904GTS และวิ่งรอบซิซิลี
Comments are closed.