คฤหาสน์ของ Clubman Racer นักบิด TZ250
ถอดล้อหน้า-หลังออก เพื่อดูแลรักษาระบบกันสะเทือน ถึงอย่างนั้นก็ยังคงแสดงความเป็นเครื่องที่แรงอยู่ดี… Yamaha TZ250 เฟรมเหล็ก…นี่แหละ racing machine ตัวตนของแท้ที่วิ่งผงาดใน GP มาแล้ว และคันนี้ คุณ M ผู้เป็นเจ้าของกำลังสนุกกับการมีส่วนร่วมใน Clubman Race
อาจเป็นเพราะอิทธิพลจากพ่อและพี่ชายที่ชอบมอเตอร์ไซค์ คุณ M จึงชอบมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก พออายุประมาณ 10 ขวบ เขาก็ขี่มอเตอร์ไซค์แล้ว ในสมัยนั้นคุณ M อาศัยอยู่ในเขตคันไซ ตอนอายุ 16 ปี พอเขาได้ใบขับขี่ ก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไปยังยอดเขาที่มีชื่อเสียงในเขตคันไซทันที ที่นั่นภายหลังเป็นที่ของเหล่านักบิดที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้ามักจะไป “ฝึกฝน” กัน
กลางปี 1980 เป็นช่วงที่การแข่งมอเตอร์ไซค์กำลังเป็นที่นิยม คุณ M ก็หมายมั่นที่จะเข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์ แต่ต้องตัดใจเพราะกำลังเกิดปัญหาขึ้นในครอบครัว หลังจากนั้น เขามักจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปที่ยอดเขาเพื่อลืมเรื่องราวต่างๆ แต่ก็ยังไม่ลืมเรื่องของการแข่งรถ พออายุ 35 ปีเขาตั้งใจกลับมาเข้าร่วมการแข่งอีก ซึ่งนับจากวันนั้น เขาได้ลงแข่งในสนามสำหรับมือสมัครเล่นมาโดยตลอด
การได้ลงสนามเป็นเรื่องที่ดี แต่เขาก็ยังมีเรื่อง HIACE รถตู้ Transporter และโรงจอดรถให้กังวลใจ ที่ผ่านมาคุณ M เช่าทั้งบ้านเช่าทั้งโรงจอดรถ แต่ถ้าจะหาเช่าที่เป็นทั้งบ้านและโรงจอดรถในเวลาเดียวกัน เป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้าเช่าได้จริงก็มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ต้องปฏิบัติตาม เขาต้องคิดให้ดีเพราะในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เขาย้ายที่ไปแล้ว 3 ครั้ง
เขาจึงตัดสินใจหาซื้อบ้านมือสองที่มีโรงจอดรถ เงื่อนไขที่คุณ M คิดไว้ คือ ¤ต้องมีความกว้างของถนนด้านหน้า 6 เมตร (มีพื้นที่ให้รถตู้ Transporter จอดแล้วยกมอเตอร์ไซค์ขึ้น-ลงได้) ¤โรงจอดรถมีความกว้างขนาดรถยนต์จอดได้ 2 คัน (นอกจากจอดมอเตอร์ไซค์หลายคัน ต้องมีที่สำหรับดูแลรักษารถด้วย) นี่ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ตอนแรกเขาหาในเขตใจกลางเมืองโตเกียว แต่ไม่มี ถึงแม้ว่าจะมี ก็มีปัญหาเรื่องงบประมาณและสภาพแวดล้อม ถ้าเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่เงียบสงบเกินไปก็ต้องระมัดระวังและเกรงใจคนที่อาศัยในละแวกนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาจึงเปลี่ยนทิศทางหันไปมองแถบชานเมือง ซึ่งไปดูมาทั้งหมดประมาณ 30 แห่ง ในที่สุดก็ได้พบกับสถานที่ในปัจจุบัน
บ้านหลังนี้ สร้างขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว แต่คุณ M ซื้อมาได้ 2 ปีครึ่ง ส่วนที่เป็นบ้านออกแบบได้สวยงามสมกับเป็นฝีมือของสถาปนิกมืออาชีพ การซื้อครั้งนี้ได้คุยกับเจ้าของบ้านหลายเรื่องจนเป็นที่พอใจ จึงตัดสินใจซื้อ
โรงจอดรถนี้ สร้างด้วยคอนกรีต ด้านหน้ากว้าง 6 เมตร ถือว่ากว้างมาก ระยะความลึกจอดรถได้ 1 คัน ความสูงภายใน ประมาณ 2 เมตร ตามระเบียบของการก่อสร้าง ส่วนตัวบ้านจะแยกเป็นคนละส่วน ดังนั้นจะทำแบบที่หลายคนพูดว่า “นั่งชมรถคันโปรดจากห้องนั่งเล่น” ไม่ได้เลย สำหรับคุณ M เขาบอกว่า “มอเตอร์ไซค์ไม่ได้มีไว้ให้ดู แต่มีไว้ขับขี่”
เวลาที่อยู่ในโรงจอดรถ เขาไม่ได้นั่งชมมอเตอร์ไซค์อย่างสบายอารมณ์ ส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปกับการดูแลรักษามอเตอร์ไซค์ ยิ่งในวันหยุดจะอยู่ทำงานในโรงจอดรถทั้งวัน
โรงจอดรถที่คุณ M เช่าก่อนหน้านี้มีประตูชัตเตอร์ปิดรักษาของเรียบร้อย พอมาที่โรงจอดรถนี้ ส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องซื้ออะไรใหม่ เพียงจัดวางเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ต่างๆ ในที่เหมาะสมก็พอแล้ว มีแต่โต๊ะทำงานเท่านั้นที่ทำขึ้นมาเอง ส่วนพื้นเดิมเป็นคอนกรีต เขาได้จ้างช่างให้มาทาสี ใช้สีที่มีระดับความทนต่อน้ำมัน ทนต่อสารเคมีสูงแบบที่ใช้ตามโรงงาน และผสมทรายพิเศษเข้าไปด้วยเพื่อไม่ให้ลื่นง่าย การทาสีครั้งนี้ราคาสูงก็จริงแต่ผลออกมาเป็นที่พอใจมาก
คุณ M บอกว่า “มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะที่มีไว้ขับขี่ แต่ถ้าพูดตรงๆ ผมอยากนำมอเตอร์ไซค์ที่ชอบไว้ในบ้านครับ อยากอยู่ใกล้ๆ เขา” ในความเป็นจริง ในบ้านคุณ M มีมอเตอร์ไซค์จอดอยู่ 1 คัน… Dream 50R คันนี้นี่แหละที่ทำให้เขาได้ลงสนามแข่ง อาจจะเป็นรถที่ดูบอบบางแต่เครื่องไม่เป็นรองใคร เสน่ห์ของมอเตอร์ไซค์สรุปรวมอยู่ตรงนี้นั่นเอง ความรู้สึกดีใจ ความรู้สึกตื่นเต้นที่ได้อยู่ใกล้มอเตอร์ไซค์เกิดขึ้นได้ทุกวัน ไม่มีอะไรดีไปกว่า… การได้ใช้ชีวิตกับรถมอเตอร์ไซค์
PLANNING DATA
สถานที่ จังหวัดคานางาวะ
สร้างเสร็จ ปี 2005
เข้าอยู่ ปี 2009
โครงสร้าง คอนกรีตเสริมเหล็ก (โรงจอดรถ)
ไม้ (ส่วนที่อยู่อาศัย)
พื้นที่โรงจอดรถ ประมาณ 25 ตารางเมตร
รถ Yamaha TZ250 ปี 81
Honda CB1100RD ปี 84
Yamaha XTZ750 Super Ténéré ปี 90
Yamaha GT80 ปี 74
HB90 ปี 69
Honda CT110 Hunter Cub ปี 04
OWNER’S CHECK
ส่วนที่ชอบที่สุด: ทุกอย่างเป็นตามที่ต้องการ พอใจมากครับ
ส่วนที่อยากปรับปรุง: ถ้าภายในสูงกว่านี้ก็จะดีมาก แต่ติดไฟด้านข้างเพื่อให้ไม่รู้สึกว่าเพดานต่ำ ต่อไปจะนำระบบท่อไอเสีย (Exhaust system) เข้ามาใช้
ความฝันต่อไป: อยากจะแข่งรถต่อไปเรื่อยๆ
คำแนะนำถึงผู้อ่าน:ควรตรวจสอบความกว้างของถนนด้านหน้า ปริมาณรถที่วิ่งผ่านไป-มา บรรยากาศบริเวณรอบๆ ให้แน่ชัด และที่สำคัญอีกอย่างคือ เพื่อนบ้านควรเข้าใจงานอดิเรกของเรา
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.