ถ้าเครื่องมือเปลี่ยน คุณภาพของงานก็เปลี่ยนไปด้วย
เสน่ห์ของเครื่องมือที่ช่างมืออาชีพคัดเลือกมาอย่างเข้มงวด คืออะไร?
เรื่องราวที่น่าสนใจของเครื่องมือ คนทั่วไปส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลของการมี “ร้านขายเครื่องมือที่มีคุณภาพสูง” แม้จะอธิบายถึงความจำเป็นให้ทราบก็ตาม แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เครื่องมือที่มีคุณภาพสูงมีส่วนในการผลิตสิ่งต่างๆ ทั่วโลกอย่างมาก ครั้งนี้จะขอเล่าถึงเสน่ห์ของเครื่องมือที่มีคุณภาพสูงไปพร้อมๆ กับเบื้องหลังความเป็นมาที่ได้รับการยอมรับ
วันก่อนได้รับคำสั่งซื้อชุดเครื่องมือสำหรับงานซ่อมบำรุงทั้งหมดจากดีลเลอร์รถยนต์รายใหญ่รายหนึ่ง ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ช่างของดีลเลอร์รถยนต์รายใหญ่จะจัดเตรียมเครื่องมือสำหรับใช้ในงานซ่อมกันเอง ช่างรุ่นพี่จะพาช่างมือใหม่มาที่ร้านในวันที่เงินเดือนเดือนแรกออก ผมได้ยินคำแนะนำของช่างรุ่นพี่ที่ร้านจนนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งฟังแล้วน่าขอบคุณว่า “ต้องหาเครื่องมือดี ๆ ไว้ใช้นะ เพราะจะเป็นเครื่องมือหากินของเราต่อไป ต้องมีฝีมือของตัวเองและเครื่องมือดีๆ ถึงจะทำงานดีๆ ออกมาได้” แต่ระยะหลังนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปเล็กน้อย ประเภทของเครื่องมือที่หาซื้อได้ในญี่ปุ่นมีเพิ่มมากขึ้น แม้แต่เครื่องมือราคาถูกก็สามารถทำงานแบบช่างมืออาชีพได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงมีช่างที่เลือกใช้เครื่องมือจากแค่ราคา โดยไม่ค่อยสนใจเครื่องคุณภาพ แต่คุณภาพของเครื่องมือมีส่วนเกื้อหนุนคุณภาพของงานและความปลอดภัยในจุดที่เรามองไม่เห็น ดังนั้น ผู้รับผิดชอบงานซ่อมบำรุงของดีลเลอร์ที่เห็นว่าความสามารถทางเทคนิคในการทำ After Support เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้ ในอันดับแรก จึงกำหนดมาตรฐานของเครื่องมือ เพื่อจะได้ไม่ทำให้ฝีมือทางเทคนิคหรือประสิทธิภาพในการทำงานของช่างแต่ละคนแตกต่างกันตามปริมาณและคุณภาพของเครื่องมือที่เขามีอยู่
จากเรื่องที่เล่ามานี้ คงมีไม่น้อยที่สงสัยว่า โดยทั่วไปแค่เปลี่ยนเครื่องมือนิดหน่อยจะมีผลทำให้คุณภาพของงานต่างออกไปเพียงนั้นเชียวหรือ? อันที่จริง เพราะนอกจากคนที่เกี่ยวข้องกับงานช่างโดยตรงแล้ว คนทั่วไปจะไม่ค่อยมีโอกาสเห็นการใช้เครื่องมือในชีวิตประจำวัน จึงไม่รู้สึกว่าคุณภาพของานที่เกิดขึ้นจะต่างกันมากน้อยเพียงไร แต่การตัดลวดเหล็กแข็งเส้นใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว หรือการหมุนนอตที่ลื่นได้ง่าย จะช่วยลดเวลาสำหรับคนทำงานได้มากเพียงไร และช่วยให้ทำงานได้โดยไม่สูญเสียแรงงานแค่ไหน?
ถ้าพิจารณาถึงปริมาณงานใน 1 วัน คิดว่าคงพอจะทำให้เข้าใจถึงผลของเครื่องมือคุณภาพดีที่มีต่อประสิทธิภาพการทำงาน ดังนั้น ความต้องการเครื่องมือดี ๆ ของคนทำงานประเภทนี้เป็นประจำ จึงทำให้ปัจจุบันก็ยังมีการพัฒนาคุณภาพเครื่องมือให้ดียิ่งขึ้น
เอาหละ เครื่องมือของประเทศไหนในโลกที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือดี? ถ้าจะว่าไป เยอรมันและอเมริกาจะเป็นประเทศผู้ผลิตหลัก เยอรมันเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมคุณภาพสูงมาตั้งแต่ยุคปฏิรูปทางอุตสาหกรรมแล้ว และสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตของโลกมาโดยตลอด ที่เขตอุตสาหกรรมรูร์ซึ่งมีประวัติความเป็นมา มีแหล่งผลิตเหล็กที่เรียกว่าเอสเซน ซึ่งใช้ประโยชน์ของภูมิประเทศที่มีความสูงต่างระดับ โดยการใช้พลังน้ำมาหมุนกังหันน้ำเพื่อใช้เป็นพลังงานไปหมุนเครื่องเป่าลมขนาดใหญ่สำหรับทำให้เกิดไฟอุณหภูมิสูงในการแปรรูปเหล็กคุณภาพดี เหล็กคุณภาพดีนี้เป็นต้นกำเนิดของการผลิตทุกอย่าง ขณะเดียวกันก็เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องมือคุณภาพดีด้วย
อีกด้านหนึ่ง อเมริกาประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ปริมาณมากในต้นศตวรรษที่ 20 ก่อนประเทศอื่น จึงเป็นผู้สร้างมาตรฐานชิ้นส่วนรถยนต์และสกรู และสร้างมาตรฐานในการประกอบและบำรุงรักษารถยนต์ ทำให้มีการพัฒนาเรื่องเครื่องมือตามไปด้วย ประเด็นสำคัญที่ทำให้เครื่องมืออเมริกาส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือที่ใช้กับรถยนต์ เพราะอเมริกาเป็นผู้สร้าง Motorization ขึ้นมา การเกิดขึ้นของเครื่องมือคุณภาพดีมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก กับประวัติศาสตร์ของประเทศนั้นๆ ประเทศที่เข้าใจถึงความสำคัญของเครื่องมือคุณภาพว่ามีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานจึงกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก
เมื่อลองคิดเช่นนั้นดูแล้ว การใช้เครื่องมือคุณภาพดีในชีวิตประจำวันที่ไม่ใช่กับงาน อาจไม่มีผลถึงขนาดที่จะทำให้คุณภาพในการดำรงชีวิตเปลี่ยนไป แต่ความรู้สึกที่ว่า เวลาใช้เครื่องมือที่คัดสรรจากทั่วโลกโดยมืออาชีพมีมิติที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด หรือความรู้สึกถึงคุณภาพเวลาที่จับต้องเครื่องมือ หรือการได้ลิ้มรสชาติที่เหมือนกับว่าได้สัมผัสถึงประวัติความเป็นมาของแต่ละประเทศ ความรู้สึกเหล่านี้จึงอาจทำให้เกิดกลุ่มแฟนเครื่องมือขึ้นมา ในครั้งนี้จะขอเลือกเครื่องมือจากบรรดาเครื่องมือที่ดีลเลอร์รถยนต์รายใหญ่ใช้เพื่อการบำรุงรักษารถของบริษัทตนเองให้มีคุณภาพที่ได้มาตรฐานสูง และเป็นเครื่องมือที่มีฟังก์ชันที่ผู้ใช้ทั่วไปเข้าใจง่ายมาแนะนำในนิตยสารฉบับนี้เป็นพิเศษ มีเครื่องมือแบบไหนบ้างที่ช่างซ่อมบำรุงผู้มีประสบการณ์คัดเลือกจากบรรดาแบรนด์ที่วางจำหน่ายอยู่ในประเทศญี่ปุ่นด้วยสายตาที่เข้มงวด จะอธิบายว่าช่างมืออาชีพเลือกเครื่องมือนั้นโดยใช้เกณฑ์อะไรและมีมุมมองในการคัดเลือกอย่างไรบ้าง ถ้าได้ทราบฟังก์ชันการใช้งานและเสน่ห์ของเครื่องมือคุณภาพ คงจะทำให้ท่านได้รู้สึกถึงทัศนคติแบบคนญี่ปุ่นที่ใส่ใจในรายละเอียดของการซ่อมบำรุงด้วยอย่างแน่นอน
Profile
Masato Takanokura (มาซาโตะ ทากาโนะคุระ)
บริหาร “FACTORY GEAR” ร้านเครื่องมือคุณภาพดีที่มีสาขาในประเทศญี่ปุ่น 13 แห่ง และต่างประเทศ 4 แห่ง และยังเป็น Hand Tool Journalist ที่นำเสนอเรื่องราวเสน่ห์ของเครื่องมือผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น นิตยสาร ทีวี และวิทยุ ฯลฯ เนื่องจากได้ข้อมูลจากการที่เขาเป็นผู้บริหารร้านขายเครื่องมือและมีโอกาสเดินทางไปทั่วทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ
http://www.f-gear.co.jp
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.