ปลุกพลังคิด(ส์) เนรมิตไอเดียกระหึ่มโลก “เทคนิคการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ลูกในศตวรรษที่ 21”

ปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีเจริญรุดหน้าขึ้นแบบไม่มีจุดสิ้นสุด แต่จุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ทั้งหมดล้วนเริ่มต้นจาก “ความฝัน” และ “จินตนาการ” ที่ถือเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ผลักดันให้เกิดการคิดค้น สร้างสรรค์ และขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าให้กับสังคมโลก เช่นเดียวกับในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ มร.โซอิจิโร่ ฮอนด้า ผู้ก่อตั้งบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ที่มีความเชื่อมั่นใน “พลังแห่งความฝัน” ที่จะสร้างยานพาหนะให้ทุกคนเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และมุ่งมั่นทำตามฝันจนประสบความสำเร็จ จนทำให้ทั่วโลกรู้จักชื่อ “ฮอนด้า” ผู้นำยนตรกรรมและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์อเนกประสงค์ และล่าสุด คือ เครื่องบินฮอนด้าเจ็ท รวมถึงนวัตกรรมเพื่อโลกอนาคตอย่าง “อาซิโม” หุ่นยนต์ที่คล้ายมนุษย์มากที่สุดในโลก เป็นต้น
workshop-6
ด้วยเหตุผลดังกล่าว บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด จึงให้ความสำคัญกับพลังแห่งจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนไทย ผ่านโครงการ “ฮอนด้า ซูปเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์” (Honda Super Idea Contest) ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 เพื่อเป็นเวทีให้นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศ ได้แสดงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ ในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์กระหึ่มโลกที่แปลกใหม่ และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในอนาคต
โดยในปีนี้ มีนักเรียนจากกว่า 2,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ส่งผลงานประกวดทั้งหมด 15,896 ชิ้น โดยมีผลงานที่ผ่านการคัดเลือก 70 ผลงานเพื่อมาทำกิจกรรมเวิร์คช็อป “ปลุกพลังคิด(ส์) เนรมิตไอเดียกระหึ่มโลก” เพื่อกระตุ้นจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และเตรียมความพร้อมสร้างสรรค์ผลงานในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เพื่อชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นตัวแทนเยาวชนไทยร่วมเข้าค่ายแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์กับเยาวชนญี่ปุ่น ณ ประเทศญี่ปุ่น

ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ อาจารย์ประจำ สังกัดบัณฑิตวิทยาลัย สาขาวิจัยและพัฒนาหลักสูตร และประธานโครงการศูนย์พัฒนาความสุขมนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ อาจารย์ประจำ สังกัดบัณฑิตวิทยาลัย สาขาวิจัยและพัฒนาหลักสูตร และประธานโครงการศูนย์พัฒนาความสุขมนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

และในโอกาสนี้ยังได้รับเกียรติจาก ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ อาจารย์ประจำ สังกัดบัณฑิตวิทยาลัย สาขาวิจัยและพัฒนาหลักสูตร และประธานโครงการศูนย์พัฒนาความสุขมนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาถ่ายทอดความรู้ให้กับบรรดาผู้ปกครองของเด็กๆ ภายใต้หัวข้อ “เทคนิคการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ลูกในศตวรรษที่ 21″
“ดังที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้กล่าวไว้ว่า ‘จินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ นั้น คำกล่าวนี้นับว่าเป็นความจริงเสมอ โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ ที่กำลังเรียนรู้และมีแนวคิดจากสิ่งที่เขาสัมผัสรอบๆ ตัว” ดร.จิตรา กล่าวถึงความสำคัญของจินตนาการที่คุณพ่อและคุณแม่ในยุคนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดี “ในศตวรรษที่ 21 นั้น การเรียนการสอนไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการบรรยายแล้ว เพราะการเรียนรู้ของเด็กจะเป็นการเรียนผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองด้วยตัวเอง ซึ่งการศึกษารูปแบบนี้จะเปิดโอกาสให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์”
สมองของเด็กๆ จะเริ่มทำงานจากซีกขวาซึ่งเกี่ยวกับเรื่องของจินตนาการและความสร้างสรรค์ก่อนสมองซีกซ้ายที่เกี่ยวกับเหตุผล จินตนาการและความสร้างสรรค์ของเด็กจึงเริ่มทำงานตั้งแต่แรกเกิด ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 ดังนั้นในช่วง 7 ปีแรกของเด็กจึงมีความสำคัญมาก เด็กจะมีความตื่นตัวและช่างสังเกต ดังนั้นการสำรวจสิ่งรอบๆ ตัวของเด็กจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็จะก่อให้เกิดการใฝ่รู้ โดยจะเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว พ่อแม่จึงควรกระตุ้นให้เด็กมีความช่างสังเกตและไม่เบื่อต่อการตอบคำถามที่ดูเหมือนว่าจะถามซ้ำๆ หรือมีคำถามใหม่ๆ มาตลอดเวลา เพราะเด็กกำลังต้องการโครงสร้างความรู้ใหม่ๆ ที่สมองซีกขวาจะเก็บไว้ในคลังความรู้ และจะถูกเก็บไว้เพื่อนำมาปรับใช้กับความรู้ใหม่ๆ ที่เขาได้รับในภายหลัง ดังนั้นคำพูดและการโต้ตอบของผู้ปกครองต่อคำถามของลูก จึงไม่ควรเป็นคำพูดและการกระทำที่จะไปปิดกั้นจินตนาการและความคิดริเริ่มของเด็ก แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลองใช้วิธีเหล่านี้ดู หากไม่สามารถตอบคำถามของลูกได้ ไม่แน่ใจในคำตอบ หรือบางครั้งเหนื่อยเกินกว่าที่จะอธิบาย
– ตั้งคำถามเพื่อให้ลูกนำคำถามไปคิดต่อและเข้าสู่กระบวนการเริ่มคิดแก้ไขปัญหา
– หากลูกแสดงความคิดเห็น ไม่ควรตัดสินว่าคำตอบของเขา “ถูก” หรือ “ผิด” ในทันที เพราะการทำเช่นนี้ก็จะเป็นการปิดกั้นความคิดของเด็ก
– การบอกให้ลูกหยุดคิดและหยุดตั้งคำถาม จะนำไปสู่ความกลัว ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กขาดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เด็กที่มีความกลัวจะเงียบ เก็บตัว และไม่กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะรู้สึกว่าต้องอยู่ในกรอบ
– พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกมีความกล้า มีความสุข และสนุกที่จะเรียนรู้ ไม่เครียดหรือกดดัน เมื่อเกิดปัญหาที่ลูกคิดไม่ออกควรให้พักก่อน แรงบันดาลใจมักเกิดขึ้นในเวลาที่เด็กรู้สึกสนุกและผ่อนคลาย
– ให้ลูกวาดภาพในสิ่งที่คิดออกมา หากลูกอธิบายสิ่งที่คิดไม่ถูก
– เปิดโอกาสให้ลูกได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเองแทนการคิดให้ลูก เพราะการที่เด็กได้ฝึกแก้ปัญหาทำให้เขามีประสบการณ์ที่เป็นพื้นฐานนำไปต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ในอนาคตได้
– ความล้มเหลว จะทำให้ลูกได้เรียนรู้เพื่อก้าวไปข้างหน้าและทำให้มีความพยายาม ดังนั้นควรให้กำลังใจกับลูก ให้ลูกใช้ความล้มเหลวผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจ
– ถ้าหากลูกมีเพื่อนเล่น เขาจะสังเกตสิ่งที่เพื่อนทำ และเกิดการพัฒนาการด้านความคิดมากขึ้น
– ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 ทำให้เด็กมีแนวโน้มติดเกมง่ายขึ้น พ่อแม่อาจลองใช้เกมเป็นตัวจุดประกายความคิดให้กับลูก ลองเอาส่วนหนึ่งส่วนใดจากเกมเป็นจุดเชื่อมให้เด็กได้ต่อยอด โดยใส่ความคิดของเขาลงไปเพื่อให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ หรือปลูกฝังให้ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ เช่น การสืบค้นข้อมูลความรู้ต่างๆ จากอินเทอร์เน็ตนอกจากใช้เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว เป็นต้น
และนี่คือตัวอย่างไอเดียการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ในจินตนาการของน้องๆ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่ผ่านการเข้ารอบ 70 ผลงาน ว่าจะกระหึ่มโลกและเป็นจริงในอนาคตได้อย่างไร
เริ่มต้นด้วยผลงานของน้องไข่มุก ด.ญ.ชนัญญา เลิศวัฒนามงคล ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนจารุวัฒนานุกูล เจ้าของผลงาน “เครื่องสืบค้นข้อมูล” ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการที่คุณครูให้หาข้อมูลจากหนังสือในห้องสมุดมาทำรายงาน เลยคิดค้นเครื่องมือที่จะทำให้สามารถหาหนังสือได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มคิดเค้าโครงขึ้นมา แล้วปรึกษาคุณครูกับคุณแม่จนได้เป็นผลงานชิ้นนี้ออกมา โดยนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มารวมเข้ากับการวาดภาพ
ด้านคุณภัทรวดี เลิศวัฒนามงคล คุณแม่ของน้องไข่มุก ได้แบ่งปันแนะนำเทคนิคในการช่วยสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ของน้องไข่มุกว่า “อยู่ที่บ้านน้องก็จะชอบวาดภาพและชอบคิดอยู่แล้ว ซึ่งเราก็สนับสนุนให้เขาทำสิ่งที่ขอบอย่างเต็มที่ ตอนแรกน้องมีไอเดียคิดเครื่องมือขึ้นมาหลายอย่าง แล้วก็มาปรึกษาและช่วยกันเลือกชิ้นที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ที่สุด ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้น ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ที่เด็กจะนำไปใช้ ถ้าหากใช้เล่นเกมอย่างเดียวก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าหากเขานำมาใช้หาข้อมูล ความรู้ต่างๆ และใช้ให้ถูกต้องภายใต้ความดูแลของพ่อแม่ก็จะเกิดประโยชน์อย่างมาก”
น้องคิดิน ด.ช.ฤกษมคามิน ภูมิธาดาเดช ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ที่มีความฝันอยากจะเป็นหมอ ได้สร้างผลงานเรียกว่า “Sugar Watch” เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเบาหวาน โดยมีแรงบันดาลใจจากคุณพ่อที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน
ส่งท้ายกับผลงานของน้องโดนัท ด.ญ.นภธร บุญปัญญาธนาชัย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์สีลม ที่มีผลงานเข้ารอบถึง 2 ผลงาน ได้แก่ “กิ้งกือ Safety Bag” ที่ช่วยป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุ และ “อมยิ้มดูดควัน” ที่เป็นเครื่องมือตรวจระดับมลภาวะจากควัน โดยคุณแม่คุณนันทพร ธารพานิช กล่าวว่า “ทางครอบครัวได้สนับสนุนน้องในการคิดผลงานโดยให้น้องโดนัทลองบอกปัญหาขึ้นมาก่อน แล้วเลือกออกมาว่าจะทำอะไร ก็ช่วยกันถามว่าทำออกมาแล้วจะได้ผลอย่างไร ซึ่งแนวทางของน้องจะมาจากการที่น้องเกิดความคิด เพราะเห็นปัญหาจากมลภาวะควันรถรอบๆ โรงเรียน และด้วยแรงบันดาลใจจากอมยิ้มที่น้องชอบ จึงเกิดเป็นไอเดียของสิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นมา และเราก็ส่งเสริมให้น้องสร้างสรรค์ผลงานขึ้นตามแนวทางที่เขาชอบ ส่วนการเลี้ยงดูที่ช่วยให้น้องมีความคิดสร้างสรรค์ ก็ได้ฝึกให้น้องโดนัทลองใช้การคิดแบบ Mind Mapping ว่าจะทำอะไรให้ร่างผังความคิดขึ้นมาก่อน แล้วค่อยขยายรายละเอียดเพิ่ม ที่สำคัญคือครอบครัวต้องเป็นแรงสนับสนุนให้เขากล้าที่จะทำ สำหรับโครงการ Honda Super Idea นี้ก็เป็นโครงการที่มีประโยชน์เพราะได้เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดในแบบที่ผู้ใหญ่อาจคาดไม่ถึง และยังช่วยให้กล้าแสดงออกได้พบปะผู้คนมากขึ้น”
ดร.จิตรา ได้ฝากถึงผู้ปกครองว่า “เด็กทุกคนล้วนมีศักยภาพในตัว ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะฉายแววออกมาได้มากแค่ไหน เด็กไทยมีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้ใคร ขึ้นอยู่กับโอกาสให้เขาได้แสดงความสามารถ ทั้งผู้ปกครอง การศึกษา สภาพแวดล้อม และโอกาสในการได้รับข้อมูลข่าวสาร ก็มีส่วนในการส่งเสริมให้ได้แสดงความคิดและผลงาน เพราะจินตนาการของเด็กในวันนี้ คือพลังการเปลี่ยนแปลงโลกในวันข้างหน้า การส่งเสริมให้พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์อย่างถูกวิธีจะทำให้เด็กได้พัฒนาทักษะกระบวนการทางความคิด การเรียนรู้ และจะเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ” การพัฒนาเยาวชนให้มีศักยภาพ ด้วยจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ที่ก้าวไกล เริ่มต้นขึ้นที่สถาบันหน่วยย่อยที่สุดอย่างครอบครัว ที่จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้เด็กๆ สานฝันและต่อยอดความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ในอนาคตเราคงจะได้เห็นนวัตกรรมล้ำสมัยเกิดขึ้นมากมายจากจินตนาการของนักคิดตัวน้อยเหล่านี้อย่างแน่นอน
เชิญร่วมติดตามชมและเป็นกำลังใจให้สุดยอดนวัตกรตัวน้อยเจ้าของไอเดียกระหึ่มโลกทั้ง 70 ไอเดียได้ในการแข่งขัน “ฮอนด้า ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์ 2016” รอบชิงชนะเลิศในรายการโทรทัศน์ Super Idea คิด(ส์) กระหึ่มโลก ซีซั่น 3 ซึ่งจะออกอากาศทางเวิร์คพอยท์ ทีวี ระบบ Digital TV โดยมีกำหนดออกอากาศทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคมนี้

Comments are closed.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    Cookies Details

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    Cookies Details

Save